top of page
Search

CEB-AIIC Agreement ความตกลงที่สำคัญสำหรับล่ามการประชุม

  • Writer: Sasee  Chanprapun
    Sasee Chanprapun
  • Jun 27, 2020
  • 1 min read

Updated: Nov 14, 2020


ความตกลง CEB-AIIC ทำขึ้นระหว่าง United Nations System Chief Executives Board for Coordination และ สมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) ด้วยเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่าง UN กับ AIIC และบทบาทของล่ามในการส่งเสริมความเป็นพหุภาษา อีกทั้งเห็นคุณค่าของการมีความตกลงระดับสถาบันเพื่อเป็นมาตรฐานร่วมกันในการจ้างงานระยะสั้นสำหรับล่ามการประชุม แม้ความตกลงฉบับนี้จะทำขึ้นระหว่าง UN กับ AIIC แต่ครอบคลุมการจ้างล่ามการประชุมทั้งหมดของหน่วยงาน UN (ซึ่งระบุไว้ใน Annex A และ Annex B) ทั้งที่เป็นสมาชิก AIIC และที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ความตกลงฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 โดยครอบคลุมการจ้างล่ามในการประชุมทั้งหมดของหน่วยงาน UN ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแปลในรูปแบบใดก็ตาม และคู่ความตกลงมีความผูกพันที่จะต้องสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความตกลงฉบับนี้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตาม ท่านสามารถอ่านเนื้อความฉบับเต็มของความตกลงนี้ได้ที่ https://www.unsystem.org/content/2019-ceb-aiic-agreement ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเนื้อหาเพียงบางประเด็นที่คนส่วนมากอาจสนใจ



เริ่มด้วยการติดต่อและเสนอว่าจ้างให้ทำงานซึ่งแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ firm offer กับ option หากเป็นงานที่ตกลงว่าจะมีการจัดแน่นอนจะมีการเสนอว่าจ้างทำงานแบบ firm offer และมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากรายละเอียดยังไม่ลงตัวอาจมีการติดต่อกันไว้ล่วงหน้าในลักษณะของ option ก่อน เมื่อมีความแน่นอนแล้วจึงเปลี่ยนเป็น firm offer ต่อไป สำหรับล่ามการรับ option หมายถึงการรับปากว่าจะทำงานนั้นแต่ยังไม่ผูกมัดเต็มที่เนื่องจากยังไม่ได้ทำสัญญา หากในระหว่างนั้นมีข้อเสนออื่น (competing offer) เข้ามา ล่ามสามารถสอบถามไปยังหน่วยงานที่เสนอ option มาว่างานนั้นยืนยันหรือไม่ และยังสามารถถอนตัวได้หากต้องการ


หน่วยงานของ UN มีอัตราค่าจ้างล่ามการประชุมที่กำหนดไว้ใน Annex E โดยแบ่งล่ามออกเป็นกลุ่ม I คือล่ามที่ผ่านการทำงานให้กับหน่วยงาน UN มาแล้วเป็นเวลา 200 วันขึ้นไป และกลุ่ม II คือล่ามที่เคยทำงานให้กับหน่วยงาน UN น้อยกว่านั้น ในความตกลงฉบับปัจจุบันกำหนดค่าจ้างสำหรับประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ไว้ไม่เท่ากัน แต่ของประเทศไทยใช้อัตรา world rate คือวันละ USD 630 สำหรับล่ามกลุ่ม I โดยล่ามกลุ่ม II จะได้ค่าจ้างร้อยละ 66.67 ของล่ามกลุ่มหนึ่ง หรือหนึ่งในสาม เมื่อล่ามกลุ่ม II ทำงานให้กับ UN ครบ 200 วันแล้วสามารถขอรับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม I ได้ แต่ความตกลงกำหนดว่าการจ้างงานล่ามกลุ่ม II ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนล่ามทั้งหมด

นอกจากจะมีค่าจ้างสำหรับวันทำงานแล้ว ความตกลงฉบับนี้ยังกำหนดไว้ว่าหากล่ามต้องเดินทางไปทำงานในสถานที่อื่นต่างจากถิ่นที่อยู่ (professional domicile) ของตน จะได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่งของวันทำงานในวันเดินทาง และหากการเดินทางใช้เวลาตั้งแต่ 14 ชั่วโมงขึ้นไปจะได้รับค่าจ้างเท่ากับหนึ่งวันทำงานในวันเดินทาง นอกจากนี้ความตกลงยังกำหนดว่าหากการเดินทางใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมง ให้มีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มทำงาน หากเป็นการบินในตอนกลางคืนที่ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ให้มีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนเริ่มงาน หากเป็นการบินในตอนกลางคืนที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า ให้เริ่มทำงานได้เฉพาะในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น


ในเรื่องสภาพการทำงาน สิ่งสำคัญที่กำหนดไว้ในความตกลงฉบับนี้คือห้ามใช้ล่ามน้อยกว่า 2 คนต่อภาษา ไม่ว่าจะในเวลาใดก็ตาม และหากบริบทของการประชุมมีความซับซ้อนกว่าปกติให้เพิ่มจำนวนล่ามต่อภาษาเป็น 3 คน หรือหากใช้ล่ามเพียง 2 คนก็ให้จ่ายค่าจ้างเป็นร้อยละ 160 ของค่าจ้างปกติ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ ให้เป็นอุปกรณ์ที่ตรงตามมาตรฐาน ISO


ความตกลง CEB-AIIC เป็นความตกลงที่กำหนดมาตรฐานในการทำงานและให้ความคุ้มครองล่ามการประชุมไว้อย่างครบถ้วน ล่ามทุกคนควรอ่านและทำความเข้าใจสาระของข้อตกลงเพื่อให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนได้ หากหน่วยงานของ UN ที่ตนทำงานด้วยไม่ทราบเรื่องข้อตกลงฉบับนี้ ล่ามควรแจ้งให้ทราบและขอให้หน่วยงานปฏิบัติตาม ไม่ว่างานนั้นจะได้รับการจ้างโดยตรงจากหน่วยงานหรือจ้างผ่าน agency หน่วยงาน ฯ มีหน้าที่ตรวจสอบตาม due diligence ว่าตัวหน่วยงานเอง agencyที่จัดหาล่ามให้ หรือหน่วยงานหุ้นส่วนที่รับเงินอุดหนุนจากตน ได้ปฏิบัติตามความตกลงที่ทำไว้ UN และ AIIC มีความร่วมมือกันมานับ 50 ปี ความตกลงฉบับนี้เกิดจากการเจรจาและเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย มีขึ้นเพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นธรรม แต่หากไม่นำมาบังคับใช้ก็คงเป็นเพียงเอกสารฉบับหนึ่งเท่านั้น


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม




 
 
 

Comments


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page