top of page
Search

Form and Meaning

Writer's picture: Sasee  Chanprapun Sasee Chanprapun

Updated: Nov 14, 2020

คำและความ



นักแปลทั้งหลายจะเข้าใจดีว่าการแปลคือการถ่ายทอดความหมายหาใช่การจับคู่คำ แต่ก็ใช่ว่าการจับคู่คำจะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไร้ประโยชน์ไปเสียหมดในการแปล การจับคู่คำสำหรับวิสามานยนามหรือชื่อเฉพาะต่างๆเป็นสิ่งที่นักแปลทำอยู่ทุกวันเพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่มีการบัญญัติเอาไว้อยู่แล้วแบบตายตัวในทั้งภาษาต้นทางและภาษาปลายทาง ในการแปลแบบล่ามการแปลวิสามานยนามและศัพท์เทคนิคเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับผู้คุ้นเคยกับเนื้อหา ส่วนผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นมาแปลในหัวข้อนั้นก็อาจเตรียมตัวล่วงหน้าโดยไปศึกษาคำเหล่านี้มาก่อนได้


สิ่งที่มีความสำคัญมากในการแปลคือการตีความ ซึ่งหมายถึงการแยกความหมาย (นามธรรม) ออกจากตัวภาษา (รูปธรรม) เมื่อสกัดความหมายออกมาได้แล้ว (ตีความได้ = เกิดความเข้าใจ) จึงนำความหมายนั้นไปสื่อเป็นภาษาปลายทางอีกทอดหนึ่ง ในวิธีการแบบนี้เราจะเห็นว่าสิ่งที่คั่นกลางระหว่างภาษาต้นทางกับภาษาปลายทางคือการตีความ ซึ่งมีความแตกต่างจากการจับคู่คำตรงที่การจับคู่คำเป็นการนำเอารูปธรรมในภาษาปลายทางมาจับคู่กับรูปธรรมในภาษาต้นทางโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดที่จะทำให้เกิดความเจ้าใจความหมายก่อน นั่นคือเราสามารถจับคู่คำได้แม้เราจะไม่เข้าใจความหมาย แต่เราจะไม่สามารถแปลได้หากเราไม่เข้าใจความหมาย


ในการแปลแบบล่ามมีการสอนทฤษฎีการตีความในลักษณะนี้อยู่ ทฤษฏีที่เก่าแก่ทฤษฎีหนึ่งใช้เทคนิค deverbalization ซึ่งมองคำและโครงสร้างประโยคในภาษาต้นทางว่าเป็นพาหนะหรือสิ่งห่อหุ้มที่จะนำสาร (ความหมายนามธรรม) จากผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังได้รับหีบห่อที่มีทั้งคำและโครงสร้างประโยคและสารอยู่ภายใน ผู้ฟังจะต้องแกะหีบห่อนั้นออกแล้วโยนสิ่งรูปธรรมทิ้งไปโดยเร็วเพื่อให้สามารถเข้าถึงความหมายบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในได้ (Seleskovitch, 1978)





เครื่องมือสำหรับแกะความหมายคือความรู้ (หรือจะเรียกว่าข้อมูลก็ได้) ซึ่งประกอบด้วยความรู้ภาษา (linguistic knowledge) และความรู้นอกเหนือจากภาษา (extra-linguistic knowledge) ที่ล่ามจะนำมาใช้ถอดความหมายออกมาจากต้นฉบับและนำความหมายประกอบชิ้นส่วนเป็นภาษาปลายทางอีกทีหนึ่ง นี่คงเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมล่ามจึงค้องมีการเตรียมข้อมูลทั้งในทางด้านภาษา (คำศัพท์) และทางด้านเนื้อหา (ความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อที่จะแปล) ก่อนจะไปทำงานใด


ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่พบในการแปลคือร่องรอยของภาษาต้นทางที่ปรากฏในคำแปล (source language interference) ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการจับคู่คำที่ไม่ควรจับคู่ เช่นในข้อความที่ควรตีความคำทุกคำในวลีหรือประโยครวมกันแต่ผู้แปลกลับตีความทีละคำแล้วนำมาเขียนต่อกัน และเกิดจากการไม่ปรับโครงสร้างประโยคในภาษาปลายทาง ยกตัวอย่างเช่นแม้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษจะมีโครงสร้างประโยคที่พอจะเทียบเคีบงกันได้ คือภาษาอังกฤษมี simple sentence, compound sentence และ complex sentence ภาษาไทยมี เอกรรถประโยค อเนกรรถประโยค และสังกรประโยค แต่ความนิยมในการใช้งาน (usage) ประโยคเหล่านี้ต่างกันมากในทั้งสองภาษา เราจะเห็นว่าข้อความที่แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมีคำว่า ที่ ซึ่ง อัน อยู่เต็มไปหมด หรือเราจะพบว่าภาษาอังกฤษที่แปลจากต้นฉบับภาษาไทยมีความวกวนอ่านแล้วเวียนหัวเหมือนขับรถอยู่บนภูเขาหลายโค้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรายังไม่ได้แปล”ความ”โดยสมบูรณ์


วิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ภาษาปลายทางเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นคือการคิดเป็นภาพ (visualization) สำหรับท่านที่ส่วนใหญ่คิดเป็นภาพอยู่แล้วจะเข้าใจว่าหากเราคิดเป็นคำพูด คำพูดในความคิดของเราจะต้องอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่ง และจำเป็นต้องหาคู่คำมาสื่อเป็นภาษาปลายทาง แต่หากคิดเป็นภาพ ภาพไม่อยู่ในภาษาต้นทางหรือภาษาปลายทาง เราจะสามารถถ่ายทอดความหมายจากภาพเป็นคำและโครงสร้างในภาษาปลายทางได้โดยปราศจากร่องรอยของภาษาต้นทางได้ดีกว่า


เมื่อทั้งนักแปลและล่ามสามารถถ่ายทอดความหมายได้โดยสมบูรณ์เป็นภาษาปลายทางที่เป็นธรรมชาติ จะช่วยเอื้อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจคำแปลของเราได้ดีขึ้น และการแปลจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดความหมายได้ยิ่งขึ้น


Seleskovitch, D. (1978). Interpreting for International Conferences. (Eric Norman McMillan & Stephanie Dailey, Trans.). Washington DC. Pen & Booth.


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

773 views0 comments

Comentarios


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page