top of page
Search

Language Classification for Interpreters

  • Writer: Sasee  Chanprapun
    Sasee Chanprapun
  • Dec 17, 2019
  • 1 min read

Updated: Nov 14, 2020

#ภาษาล่าม #ล่ามการประชุม


เวลาล่ามคุยกันอาจมีการกล่าวถึงภาษา ABC นั่นหมายความว่าอะไร เขากำลังพูดถึงการกำหนดภาษาของสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) ที่กำหนดให้ภาษา A เป็นภาษาแม่ของล่าม ภาษา B คือภาษาที่ล่ามใช้สื่อสารได้ดีเกือบจะเท่าภาษาแม่ และภาษา C คือภาษาที่ล่ามสื่อสารได้ดี ในการแปลจะกำหนดให้แปลจากภาษาอื่นเป็นภาษาแม่เท่านั้น เช่นแปลจากภาษา B เป็นภาษา A หรือ แปลจากภาษา C เป็นภาษา A ในบางกรณีอาจมีการอนุโลมให้แปลจากภาษา A เป็นภาษา B ได้ แต่จะไม่มีการแปลจากภาษา A เป็นภาษา C หรือการแปลจากภาษา B เป็นภาษา C หรือการแปลจากภาษา C เป็นภาษา B เด็ดขาดเพราะถือว่ายังมีความสามารถสื่อสารในภาษานั้นไม่มากพอที่จะแปลได้แม้จะสามารถใช้ภาษาดังกล่าวสื่อสารได้อย่างดีในชีวิตประจำวัน


แล้วใครเป็นคนกำหนดว่าภาษา ABC ของล่ามคนหนึ่งคือภาษาอะไรบ้าง ก็ล่ามด้วยกันนี่แหละค่ะเป็นคนกำหนด AIIC เป็นองค์กรที่ไม่มีการสอบเข้า หากต้องการเป็นสมาชิกคุณต้องไปหาคนรับรองมา ซึ่งคนรับรองนั้นจะต้องเป็นสมาชิก AIIC มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี โดยผู้ที่จะรับรองภาษา A ของคุณนั้นจะต้องมี 2 คน และภาษา A และ B ของเขาจะต้องเป็นภาษาเดียวกับภาษา A และ B ที่คุณใช้สมัคร สำหรับภาษา B ที่คุณใช้สมัครก็ต้องหาคนรับรอง 2 คนเช่นกันค่ะ โดย 1 ใน 2 คนนั้นภาษา A ของเขาจะต้องเป็นภาษา B ที่คุณใช้สมัคร และอีกหนึ่งคนที่จะรับรองภาษา B ที่คุณใช้สมัครนั้น จะมีภาษา A หรือ B ตรงกับภาษา B ที่คุณใช้สมัครก็ได้ สำหรับภาษา C ที่คุณใช้สมัครจะต้องมีผู้รับรองสองคนเช่นกัน โดยผู้รับรองอาจมีภาษา C ที่คุณใช้สมัครเป็นภาษา A B หรือ C ของเขาก็ได้ แต่ทั้งสองต้องมีภาษา A หรือ B เป็นภาษาเดียวกับที่คุณใช้สมัครเป็นภาษา A เวียนหัวแล้วใช่ไหมคะ




เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงจะให้ความสำคัญกับการจำแนกภาษาของล่ามมาก อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่าเราไม่สามารถลุกขึ้นมาอ้างลอยๆได้ว่าภาษา ABC ของเราคือภาษาโน้นภาษานี้เพราะมันต้องมีคนรับรองด้วยถ้าคุณเป็นสมาชิก AIIC หากไม่ได้เป็นสมาชิกการจะได้เข้าไปทำงานในการประชุมนั้นจะยิ่งยากขึ้นไปอีก ส่วนมากจะได้เข้าไปทำเพราะคนที่เป็นสมาชิกแนะนำ (คือเอาคอไปขึ้นเขียงรับรองให้ว่าคนนี้ทำได้แน่ๆ) ในระยะหลังที่ศูนย์กลางของโลกย้ายมาทางเอเชียมากขึ้นมีการจัดประชุมที่ต้องแปลเป็นภาษาของประเทศในเอเชียบ่อยขึ้น ทีนี้เกิดปัญหาว่าไม่สามารถหาล่ามที่มีภาษา A เป็นภาษาโลกตะวันตก (เช่นภาษาอังกฤษ) และภาษา B เป็นภาษาของประเทศในเอเชีย (เช่นบาฮาซาอินโดนีเซีย) ได้มากพอ อาจยกเว้นในกรณีของภาษาจีนซึ่งเป็นภาษา UN หรือภาษาญี่ปุ่นที่ชาวตะวันตกสนใจจะเรียน แต่สำหรับภาษาหายากเช่นภาษาไทย ในปัจจุบันก็ยังไม่มีล่ามคนใดที่มีภาษา A เป็นภาษาตะวันตกและภาษา B เป็นภาษาไทย จึงเกิดความจำเป็นขึ้นเองที่จะต้องปฏิบัติสวนทางกับความคิดแบบฝรั่งจ๋า (eurocentric) ที่ว่าเราควรจะแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาแม่เราเท่านั้น การแปลสวนทางจากภาษาแม่เป็นภาษาต่างประเทศเรียกว่า retour ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสหมายถึงการแปลกลับ


เมื่อมีการแปลกลับจึงเกิดความแตกต่างระหว่า one way booth กับ two way booth ความหมายก็ตามชื่อ คือล่ามที่ทำงานใน one way booth จะแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาแม่เท่านั้น ส่วนล่ามที่ทำงานใน two way booth จะแปลทั้งสองทางและได้ค่าจ้างมากกว่า จะเห็นได้ว่าการรจัดหาล่ามเพื่อทำงานในการประชุมนั้นมีความซับซ้อนมากเนื่องจากข้อกำหนดทางภาษาต่างๆ ที่สำคัญคือจะไม่มีการแปลระหว่างภาษา B กับภาษา C เด็ดขาดเพราะเป็นคู่ภาษาที่ล่ามไม่ได้มีความเชี่ยวชาญสูงสุดในภาษาใดเลย โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดจึงสูงมาก


ผู้จัดการประชุมในประเทศไทยยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการจำแนกภาษาของล่ามมากนัก ปัญหาที่พบอยู่เนืองๆคือเนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เราทุกคนเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเราจึงคิดว่าเราสามารถรับงานแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาต่างประเทศอีกภาษาที่เรามีความชำนาญในระดับที่จะเป็นภาษา B ของเราได้ หมายความว่าในสถานการณ์นี้เรามีความด้อยในทั้งสองภาษาที่เป็นคู่ภาษาที่เราแปล เช่นสมัยเรียนมหาวิทยาลัยดิฉันเรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาโท ดิฉันจึงคิดว่าตัวเองจะสามารถรับงานแปลในคู่ภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศสได้ หรือเพื่อนร่วมงานดิฉันเป็นล่ามที่แปลในคู่ภาษาไทย-ญี่ปุ่นอยู่ แต่เนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้จึงจะรับงานแปลในคู่ภาษาญี่ปุ่น-อังกฤษด้วย การแปลในลักษณะนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผู้จัดการประชุมควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกล่ามมากๆ นอกจากจะต้องแน่ใจว่าล่ามที่จะมาทำงานให้คุณเขามีความสามารถในการแปลแล้ว ควรต้องดูด้วยว่าเขามีความสามารถในการแปลในคู่ภาษาไหนและในทิศทางใด



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

 
 
 

Comentarios


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page