top of page
Search

การใช้พจนานุกรมในการแปล

  • Writer: Sasee  Chanprapun
    Sasee Chanprapun
  • Feb 11, 2020
  • 1 min read

Updated: Nov 14, 2020

#พจนานุกรม #การแปล #จับคู่คำ


พจนานุกรมเป็นเครื่องมือสำเร็จรูปที่ทำให้เราทราบคำแปลได้ในเวลาอันรวดเร็ว มีความสะดวกในการใช้งาน แต่ปัญหาคือพจนานุกรมทำให้เราเกิดนิสัยการจับคู่คำและจำกัดจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของเราให้แคบลง


ที่จริงพจนานุกรมมีประโยชน์มากในการเรียนรู้ภาษา เพราะเราสามารถเปิดพจนานุกรมแล้วทราบได้ว่าคำที่เราสงสัยนั้นมีความหมายว่าอะไร แต่ไม่ใช่คำทุกคำจะมีคู่คำที่เหมือนกันทุกประการในอีกภาษาเสมอไป คนที่อยู่ต่างสิ่งแวดล้อมต่างวัฒนธรรมกันย่อมมีวิธีคิดและสื่อสารต่างกันเป็นธรรมดา เช่นภาษาอินโดนีเซียมีคำที่ใช้สำหรับการออกไปข้างนอกเมื่อรู้ว่าฝนตกกับมีอีกคำที่ใช้สำหรับเมื่อไม่รู้ว่าฝนตก (Baker, 1992) แต่ภาษาอื่นอีกหลายภาษาอาจไม่มีการแยกย่อยถึงขนาดนั้น เวลาแปลจึงอาจเกิดความลักลั่น เราจะพบว่าไม่ค่อยมีคู่คำในภาษาต้นทางกับปลายทางที่มีความหมายทับซ้อนกันได้ทั้ง 100% และบางครั้งเราไม่สามารถหาคำเพียงหนึ่งคำในภาษาปลายทางมาแปลคำหนึ่งคำในภาษาต้นทางได้ด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะสิ่งของ การกระทำ หรือความคิดนั้นไม่มีอยู่เลยในภาษาปลายทาง



หากเราใช้พจนานุกรมเปิดหาคำแปลไปเรื่อยๆแบบคำต่อคำสุดท้ายแล้วคำแปลของเราอาจไม่สื่อความเพราะเราไม่ได้ปรับโครงสร้างประโยคตามไปด้วย เราจะได้คำแปลเป็นภาษาปลายทางบิดเบี้ยวที่เขียนด้วยรูปประโยคของภาษาต้นทาง เมื่อเราเปิดหาความหมายของคำในพจนานุกรมเราจะได้รับอิทธิพลจากคำแปลที่พจนานุกรมฉบับนั้นเสนอโดยทันทีและจะเกิดการจับคู่คำขึ้นในใจโดยปริยาย ครั้งต่อไปเมื่อเราพบคำในภาษาต้นทางคำนั้นอีกครั้งเราจะนึกถึงคำในภาษาปลายทางที่เราเคยพบจากการเปิดพจนานุกรม (หลายคนจดไว้ในสมุดคำศัพท์ส่วนตัวด้วยซ้ำ) และถูกปิดกั้นจากความคิดว่าคำนั้นอาจหมายถึงสิ่งอื่นก็ได้ เท่ากับเป็นการเสียโอกาสกลายๆที่จะถ่ายทอดความหมายในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากรูปแบบที่ระบุในพจนานุกรม


นักแปลทุกคนทราบดีว่าความหมายขึ้นอยู่กับบริบท เราไม่สามารถแปลความหมายของคำได้อย่างสมบูรณ์จนกว่าเราจะนำคำนั้นไปใส่ในประโยค แม้เมื่ออยู่ในประโยคแล้วก็ยังอาจต้องอาศัยบริบทจากส่วนอื่นมาช่วยตีความ เช่นในประโยค "ฉันไม่ชอบแมว" เราจะไม่ทราบว่าแมวในที่นี้หมายถึงสัตว์สี่เท้าหรือหมายถึงคนชื่อแมวจนกว่าเราจะได้ดูบริบทในส่วนอื่น การตีความคลาดเคลื่อนอาจทำให้คำแปลของเราคลาดเคลื่อนไปด้วย ประโยคข้างบนสามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า I don't like cats. หรือ I don't like Maew. ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตีความของเรา พจนานุกรมหลายฉบับให้ตัวอย่างประโยคหรือให้บริบทแก่ผู้ใช้มาด้วย พจนานุกรมลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถหาความหมายที่แม่นยำกว่าพจนานุกรมที่ให้นิยามมาเป็นคำเพียงคำเดียวหรือไม่กี่คำ


เมื่อแปลต้นฉบับที่มีความซับซ้อนเราอาจไม่สามารถใช้พจนานุกรมเพียงอย่างเดียวเพื่ออ้างอิง (ยกเว้นพวกชื่อเฉพาะ ศัพท์เทคนิค หรือวิสามานยนาม) อาจต้องใช้แหล่งข้อมูลอื่นประกอบด้วยเช่น พจนานุกรมคำเหมือน (thesaurus) ซึ่งบางฉบับนอกจากจะบอกคำเหมือน (synonym) แล้วยังบอกคำที่มีความหมายตรงกันข้าม (antonym) ด้วย หรืออาจใช้แหล่งอ้างอิงที่ให้ข้อมูลด้านเนื้อหา เช่นเว็บไซท์ต่างๆที่สามารถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ต การหาข้อมูลจากหลายแหล่งจะช่วยเปิดความคิดของผู้แปลให้กว้างขึ้นและไม่ยึดติดอยู่กับคำแปลเดิมๆที่ตนเห็นจากพจนานุกรมอีกต่อไป


ในเบื้องต้นพจนานุกรมมีประโยชน์มากในการแปลเพราะช่วยให้นักแปลทราบความหมายของคำและสำนวนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ตามนักแปลไม่ควรปักใจกับคำแปลที่พจนานุกรมเสนอ แต่ควรหาข้อมูลเพิ่มจากแหล่งอื่นด้วยก่อนจะนำมาประมวลและพิจารณาเลือกคำแปลที่สอดคล้องกับบริบทที่สุด


Baker, M. (1992). In Other Words: A coursebook on translation. London. Routledge.




เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

 
 
 

Comments


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page